วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2559

การเลือกใช้คอมพิวเตอร์

การเลือกใช้คอมพิวเตอร์
คอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาทในงานด้านต่าง ๆ ทั้งที่เป็นหน่วยงานราชการ องค์กรต่าง ๆ
และธุรกิจขนาดเล็ก กลาง หรือใหญ่ โดยเลือกใช้ระบบคอมพิวเตอร์ที่เหมาะสมกับหน่วยงานหรือองค์กรนั้น
ระบบคอมพิวเตอร์ที่นิยมใช้คือ ไมโครคอมพิวเตอร์หรือคอมพิวเตอร์พีซีซึ่งได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ
จนสามารถตอบสนองความต้องการได้ ในราคาที่ถูกลง ค่าบำรุงรักษาต่ำ การใช้งานสะดวกขึ้นและ
มีซอฟต์แวร์สำเร็จรูปให้เลือกใช้งานจำนวนมาก จึงมีการประยุกต์ใช้คอมพิวเตอร์ในงานด้านต่าง ๆ
ในวันนี้จะกล่าวถึงการใช้งานคอมพิวเตอร์ในวงการศึกษา
           การใช้คอมพิวเตอร์ในวงการศึกษา
เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ถูกนำมาใช้ในวงการศึกษาทั้งในสถานศึกษาและการศึกษาด้วยตนเอง
มีโปรแกรมด้านการศึกษา ประเภทบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI) เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากให้ผู้สนใจ
ได้เลือกศึกษาตามความต้องการ ช่วยให้เกิดความเข้าใจในบทเรียนและเป็นการทบทวนความรู้ที่เรียนมาแล้ว
ทำให้เกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันการสื่อสารกว้างไกลขึ้นทำให้การใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อการศึกษามีมากยิ่งขึ้น
สามารถศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ได้ทั่วโลก เกิดการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ซึ่งการศึกษาในปัจจุบันสนับสนุน
ให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถในการใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง ความรู้ที่ได้จากอินเตอร์เน็ต
จะช่วยให้เกิดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในด้านต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น
      นอกจากนี้สถานศึกษายังนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในงานบริหารทั่วไปเช่น งานบุคลากร งานการเงิน งานบัญชี งานพัสดุครุภัณฑ์
งานประชาสัมพันธ์ งานการจัดการบริหารการศึกษา เช่น งานทะเบียนนักศึกษา การลงทะเบียนเรียนของนักศึกษา
การตรวจสอบความถูกต้องในการลงทะเบียนรายวิชาง่ายขึ้น ช่วยให้การรายงานผลการเรียนของนักศึกษาจำนวนมาก
ทำได้ถูกต้องในเวลารวดเร็ว งานแนะแนวการศึกษาและอาชีพ งานพัฒนาวินัยงานกิจกรรมนักศึกษาเป็นต้น
        การเลือกเครื่องคอมพิวเตอร์
              การเลือกเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อนำมาใช้ในระบบงาน ต้องสามารถรองรับการขยายตัวของระบบงานได้ในอนาคต
เนื่องจากเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลาและรวดเร็วมาก การเลือกเครื่องคอมพิวเตอร์มาใช้งาน
ต้องพิจารณาจากงานในธุรกิจนั้น แนวโน้มของธุรกิจในอนาคต สิ่งที่ควรพิจารณาคือ
              1. ไมโครคอมพิวเตอร์ (Microcomputer) เหมาะกับธุรกิจขนาดเล็กจนถึงขนาดกลาง
สามารถเชื่อมต่อกันเป็นระบบเครือข่ายท้องถิ่น LAN (Local Area Network) และเชื่อมต่อกันเป็นระบบ WAN (Wide Area Network)
โดยผ่านระบบการสื่อสารแบบต่างๆ เช่น ดาวเทียม คลื่นวิทยุ คลื่นไมโครเวฟ ฯลฯ และเข้าสู่ระบบอินเตอร์เน็ต
ซึ่งเป็นเครือข่ายสากลได้ด้วย เป็นคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กที่มีประสิทธิภาพสูง ราคาไม่แพง
              2. มินิคอมพิวเตอร์ (Minicomputer) เหมาะกับธุรกิจขนาดกลาง มีระบบการเก็บข้อมูลที่ดีกว่าไมโครคอมพิวเตอร์
 จึงเหมาะกับข้อมูลที่ไม่เปลี่ยนแปลงบ่อยนัก ราคาเครื่องสูงกว่าไมโครคอมพิวเตอร์
              3. เมนเฟรม (Mainframe) และ ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ (Supercomputer) เหมาะกับธุรกิจขนาดใหญ่
ทำหน้าที่เป็นคอมพิวเตอร์ศูนย์กลาง มีการประมวลผลข้อมูลที่ซับซ้อน รวดเร็วมาก ประสิทธิภาพสูง ราคาแพง
ต้องใช้สถานที่และสภาพแวดล้อมที่ออกแบบเป็นพิเศษ ควบคุมอุณหภูมิ เป็นต้น
          วิธีการจัดหาระบบคอมพิวเตอร์ 
              การจัดหาระบบคอมพิวเตอร์มี 3 วิธีคือ
              1. ระบบจัดซื้อ (Buying) เป็นวิธีที่ประหยัดที่สุดเมื่อเทียบกับวิธีอื่นถ้าใช้เครื่องติดต่อกันเป็นเวลานาน
สามารถใช้เครื่องได้เต็มที่นานเท่าที่ต้องการ ข้อเสียคือ ต้องเสียค่าบำรุงรักษาเครื่องและเสี่ยงต่อการล้าสมัยง่าย
เนื่องจากเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์พัฒนารวดเร็วมาก
              2. ระบบการเช่า (Renting) เป็นวิธีที่แพงที่สุดถ้าต้องเช่าติดต่อกันนานหลายปี แต่ผู้เช่าไม่ต้องเสียเงินก้อนใหญ่ในครั้งแรก
ลดความเสี่ยงในเรื่องล้าสมัย สามารถเปลี่ยนระบบได้เมื่อครบกำหนดตามสัญญา ไม่ต้องมีค่าบำรุงรักษา รวมอยู่ในค่าเช่าแล้ว
การใช้ระบบนี้ต้องรอบคอบในเรื่องของเงื่อนไขในสัญญาเช่าทั้งในส่วนของสเปคของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ให้เช่าและการให้บริการบำรุงรักษา
              3. ระบบเช่าซื้อ (Leasing) เป็นระบบผ่อนชำระค่าเครื่องตามระยะเวลาที่กำหนด ถูกกว่าการเช่าแต่แพงกว่าการซื้อ
เพราะรวมค่าบำรุงรักษาเครื่องไว้ด้วย ผู้เช่าซื้อต้องผูกพันต่อสัญญาถ้าเลิกเช่าซื้อก่อนครบกำหนดอาจจะต้องเสียค่าปรับ
 โดยค่าเช่าซื้อมักจะลดลงตามระยะเวลาการใช้ ระหว่างการใช้งานผู้มีสิทธิครอบครองจนกว่าจะผ่อนชำระครบ
       หลักการเลือกซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์  
          การเลือกซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ จะต้องคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
               1. งบประมาณในการจัดซื้อ
               2. ประเภทของงานที่นำคอมพิวเตอร์มาใช้
               3. สมรรถนะของเครื่อง
              4. ความสามารถในการ Upgrade ในอนาคต
         รายละเอียดเกี่ยวกับเครื่องคอมพิวเตอร์ หลัก ๆ โดยทั่วไปมีดังนี้
               1. รุ่นและความเร็วในการประมวลผลของ CPU
               2. ชนิดและขนาดของหน่วยความจำ RAM
               3. ขนาดของหน่วยความจำแคช (Cache Lever 2)
               4. ขนาดความจุของฮาร์ดดิสก์ (Hard disk)
          คอมพิวเตอร์พีซีโดยทั่วไปในปัจจุบัน เป็นระบบมัลติมีเดีย สามารถดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม และเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้     
การพิจารณารายละเอียดของเครื่องควรดูที่ความเหมาะสมในการนำมาใช้งานมากกว่าการตัดสินใจซื้อตามแฟชั่นหรือ
การเลือกซื้อรุ่นใหม่ล่าสุดเพื่อให้เป็นคนทันสมัย ซึ่งจะทำให้เสียค่าใช้จ่ายแพงเพราะอีกไม่นานก็จะตกรุ่น ราคาก็จะลดลงมาด้วย
 และยังเสี่ยงต่อความไม่สมบูรณ์ของเครื่อง เนื่องจากยังมีข้อผิดพลาดในการผลิต จะต้องมีการปรับปรุงอีก
เทคนิคของการซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์คือ ควรซื้อเครื่องในรุ่นที่ต่ำกว่ารุ่นที่ออกใหม่ 1 รุ่น จะได้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพในราคาถูก
        การเลือกโปรแกรมคอมพิวเตอร์  
            การเลือกโปรแกรมสำหรับคอมพิวเตอร์ โปรแกรมแรกคือระบบปฏิบัติการ ต้องให้เหมาะสมกับระบบคอมพิวเตอร์
และต้องเป็นโปรแกรมที่ถูกต้องตามลิขสิทธิ์ เช่น วินโดว์ 9x ขึ้นไป หรือ โปรแกรมฟรี เช่น ลีนุกซ์ เป็นต้น
จากนั้นเลือกโปรแกรมที่เหมาะสมกับงาน การจัดหาโปรแกรมมี 3 วิธีคือ
            1. โปรแกรมสำเร็จรูป (Package Program) เป็นโปรแกรมที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงาน
สามารถเลือกซื้อใช้ได้ตามความต้องการ เช่น สำหรับสำนักงาน (Office) ประกอบด้วย
โปรแกรมประมวลผลคำ (Word Processing: MS-Word) โปรแกรมตารางทำงาน (Spread sheet: Excel, Lotus1-2-3)
 โปรแกรมเสนองาน(Presentation: PowerPoint) โปรแกรมจัดการฐานข้อมูล (Data Base: Access, dBase, FoxBASE, FoxPro)
            2. โปรแกรมประยุกต์ (Application Program: User Program) หมายถึงโปรแกรมที่เขียนขึ้นใช้เองตามความต้องการ
 เพื่องานด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น โปรแกรมสำหรับระบบงานบัญชี โปรแกรมสำหรับงานการเรียนการสอน เป็นต้น
ซึ่งโปรแกรมประเภทนี้อาจใช้โปรแกรมเมอร์ขององค์กรเขียนขึ้นหรือว่าจ้างบริษัทรับจ้างเขียนโปรแกรม ค่าใช้จ่ายจะสูงกว่า
การซื้อโปรแกรมสำเร็จรูปมาใช้ แต่จะตรงกับความต้องการมากกว่า
            3. โปรแกรมที่เป็นเครื่องมือในการพัฒนาระบบ (Program Tools) ได้แก่ โปรแกรมประเภท CASE เช่น Excelerator
ซึ่งโปรแกรมเมอร์ใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาระบบงาน
       ขั้นตอนในการเลือกโปรแกรมให้เหมาะสมกับลักษณะของงานมีดังนี้
          1. ตรงกับความต้องการ (Requirement) สามารถทำงานได้ตรงตามความต้องการของผู้ใช้
           2. มีประสิทธิภาพ (Performance) สามารถจัดการกับข้อมูลได้ดี การแสดงผล การประมวลผลรวดเร็วและถูกต้อง
           3. ง่ายต่อการใช้งาน (Easy to use) สามารถเรียนรู้วิธีการใช้งานได้ง่าย ในระยะเวลาอันสั้น และมีเมนูช่วยเหลือ (Help menu)
ในระหว่างการใช้งาน
           4. มีความยืดหยุ่น (Flexibility) สามารถใช้ได้กับระบบปฏิบัติการที่แตกต่างกันสามารถรับส่งข้อมูลกับโปรแกรมอื่น ๆ
ได้ รวมทั้งสามารถใช้งานกับอุปกรณ์แสดงผลได้หลายชนิด เช่น จอภาพ เครื่องพิมพ์
           5. คู่มือการใช้งานที่มีคุณภาพ (Quality of Documentation) ต้องสามารถอธิบายหรือให้คำแนะนำต่อผู้ใช้งานเมื่อเกิดปัญหาขึ้น
ช่วยให้แก้ไขปัญหาได้เมื่อปฏิบัติตาม
           6. การรับรองผลิตภัณฑ์ (Manufacture Support) ผู้ผลิตหรือผู้ขายรับรองผลิตภัณฑ์ของตน บริการให้คำปรึกษาเมื่อมีปัญหาจากการใช้ผลิตภัณฑ์
 แจ้งข่าวสารการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ ให้บริการ Upgrade ฟรีเป็นต้น
           การใช้โปรแกรมควรมีการตรวจสอบความถูกต้อง โดยการนำข้อมูลจริงบันทึกลงบนโปรแกรมนั้น หลังจากประมวลผลแล้ว
ดูผลลัพธ์ที่ได้ถูกต้องตรงกับความต้องการหรือไม่..... อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/150911

วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

พรบ.คอมพิวเตอร์

พรบ.คอมพิวเตอร์


พระราชบัญญัติ
ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
พ.ศ. ๒๕๕๐
                       

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๐
เป็นปีที่ ๖๒ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ 
ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้



มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐

มาตรา ๒  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓  ในพระราชบัญญัตินี้
ระบบคอมพิวเตอร์” หมายความว่า อุปกรณ์หรือชุดอุปกรณ์ของคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมการทำงานเข้าด้วยกัน โดยได้มีการกำหนดคำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใด และแนวทางปฏิบัติงานให้อุปกรณ์หรือชุดอุปกรณ์ทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูลโดยอัตโนมัติ
ข้อมูลคอมพิวเตอร์” หมายความว่า ข้อมูล ข้อความ คำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใดบรรดาที่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ในสภาพที่ระบบคอมพิวเตอร์อาจประมวลผลได้ และให้หมายความรวมถึงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย
ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์” หมายความว่า ข้อมูลเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารของระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งแสดงถึงแหล่งกำเนิด ต้นทาง ปลายทาง เส้นทาง เวลา วันที่ ปริมาณ ระยะเวลาชนิดของบริการ หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อสื่อสารของระบบคอมพิวเตอร์นั้น



ผู้ให้บริการ” หมายความว่า
(๑) ผู้ให้บริการแก่บุคคลอื่นในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ต หรือให้สามารถติดต่อถึงกันโดยประการอื่น โดยผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการในนามของตนเอง หรือในนามหรือเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น
(๒) ผู้ให้บริการเก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น
ผู้ใช้บริการ” หมายความว่า ผู้ใช้บริการของผู้ให้บริการไม่ว่าต้องเสียค่าใช้บริการหรือไม่ก็ตาม
พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๔  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้





ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
                       

มาตรา ๕  ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๖  ผู้ใดล่วงรู้มาตรการป้องกันการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่ผู้อื่นจัดทำขึ้นเป็นการเฉพาะถ้านำมาตรการดังกล่าวไปเปิดเผยโดยมิชอบในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๗  ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ




มาตรา ๘  ผู้ใดกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อดักรับไว้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นที่อยู่ระหว่างการส่งในระบบคอมพิวเตอร์ และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นมิได้มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือเพื่อให้บุคคลทั่วไปใช้ประโยชน์ได้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๙  ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๑๐  ผู้ใดกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบ เพื่อให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง หรือรบกวนจนไม่สามารถทำงานตามปกติได้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๑๑ ผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่นโดยปกปิดหรือปลอมแปลงแหล่งที่มาของการส่งข้อมูลดังกล่าว อันเป็นการรบกวนการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ของบุคคลอื่นโดยปกติสุข ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท



มาตรา ๑๒  ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา ๙ หรือมาตรา ๑๐
(๑) ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดขึ้นในทันทีหรือในภายหลังและไม่ว่าจะเกิดขึ้นพร้อมกันหรือไม่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท
(๒) เป็นการกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือการบริการสาธารณะ หรือเป็นการกระทำต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท
ถ้าการกระทำความผิดตาม (๒) เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี

มาตรา ๑๓  ผู้ใดจำหน่ายหรือเผยแพร่ชุดคำสั่งที่จัดทำขึ้นโดยเฉพาะเพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดตามมาตรา ๕ มาตรา ๖ มาตรา ๗ มาตรา ๘ มาตรา ๙ มาตรา ๑๐ หรือมาตรา ๑๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ




มาตรา ๑๔  ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(๑) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
(๒) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
(๓) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
(๔) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
(๕) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔)

มาตรา ๑๕  ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๔ ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๑๔


มาตรา ๑๖  ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติมหรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่ง เป็นการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยสุจริต ผู้กระทำไม่มีความผิด
ความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้
ถ้าผู้เสียหายในความผิดตามวรรคหนึ่งตายเสียก่อนร้องทุกข์ ให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย

มาตรา ๑๗  ผู้ใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้นอกราชอาณาจักรและ
(๑) ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนไทย และรัฐบาลแห่งประเทศที่ความผิดได้เกิดขึ้นหรือผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ หรือ
(๒) ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนต่างด้าว และรัฐบาลไทยหรือคนไทยเป็นผู้เสียหายและผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ
จะต้องรับโทษภายในราชอาณาจักร



หมวด ๒
พนักงานเจ้าหน้าที่
                       

มาตรา ๑๘ ภายใต้บังคับมาตรา ๑๙ เพื่อประโยชน์ในการสืบสวนและสอบสวนในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ เฉพาะที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการใช้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิดและหาตัวผู้กระทำความผิด
(๑) มีหนังสือสอบถามหรือเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้มาเพื่อให้ถ้อยคำ ส่งคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือส่งเอกสาร ข้อมูล หรือหลักฐานอื่นใดที่อยู่ในรูปแบบที่สามารถเข้าใจได้
(๒) เรียกข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์จากผู้ให้บริการเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารผ่านระบบคอมพิวเตอร์หรือจากบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง
(๓) สั่งให้ผู้ให้บริการส่งมอบข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้บริการที่ต้องเก็บตามมาตรา ๒๖ หรือที่อยู่ในความครอบครองหรือควบคุมของผู้ให้บริการให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่
(๔) ทำสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ จากระบบคอมพิวเตอร์ที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ในกรณีที่ระบบคอมพิวเตอร์นั้นยังมิได้อยู่ในความครอบครองของพนักงานเจ้าหน้าที่
(๕) สั่งให้บุคคลซึ่งครอบครองหรือควบคุมข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ ส่งมอบข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ดังกล่าวให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่
(๖) ตรวจสอบหรือเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ของบุคคลใด อันเป็นหลักฐานหรืออาจใช้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือเพื่อสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดและสั่งให้บุคคลนั้นส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ ที่เกี่ยวข้องเท่าที่จำเป็นให้ด้วยก็ได้
(๗) ถอดรหัสลับของข้อมูลคอมพิวเตอร์ของบุคคลใด หรือสั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเข้ารหัสลับของข้อมูลคอมพิวเตอร์ ทำการถอดรหัสลับ หรือให้ความร่วมมือกับพนักงานเจ้าหน้าที่ในการถอดรหัสลับดังกล่าว
(๘) ยึดหรืออายัดระบบคอมพิวเตอร์เท่าที่จำเป็นเฉพาะเพื่อประโยชน์ในการทราบรายละเอียดแห่งความผิดและผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๑๙  การใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๑๘
(๔) (๕) (๖) (๗) และ (๘) ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อมีคำสั่งอนุญาตให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามคำร้อง ทั้งนี้ คำร้องต้องระบุเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลใดกระทำหรือกำลังจะกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ เหตุที่ต้องใช้อำนาจ ลักษณะของการกระทำความผิด รายละเอียดเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ใช้ในการกระทำความผิดและผู้กระทำความผิด เท่าที่สามารถจะระบุได้ ประกอบคำร้องด้วยในการพิจารณาคำร้องให้ศาลพิจารณาคำร้องดังกล่าวโดยเร็ว



เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตแล้ว ก่อนดำเนินการตามคำสั่งของศาล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งสำเนาบันทึกเหตุอันควรเชื่อที่ทำให้ต้องใช้อำนาจตามมาตรา ๑๘ (๔) (๕) (๖) (๗) และ(๘) มอบให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองระบบคอมพิวเตอร์นั้นไว้เป็นหลักฐาน แต่ถ้าไม่มีเจ้าของหรือผู้ครอบครองเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่ ณ ที่นั้น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งมอบสำเนาบันทึกนั้นให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองดังกล่าวในทันทีที่กระทำได้
ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้เป็นหัวหน้าในการดำเนินการตามมาตรา ๑๘ (๔) (๕) (๖) (๗) และ (๘) ส่งสำเนาบันทึกรายละเอียดการดำเนินการและเหตุผลแห่งการดำเนินการให้ศาลที่มีเขตอำนาจภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาลงมือดำเนินการ เพื่อเป็นหลักฐาน
การทำสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามมาตรา ๑๘ (๔) ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ และต้องไม่เป็นอุปสรรคในการดำเนินกิจการของเจ้าของหรือผู้ครอบครองข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นเกินความจำเป็น
การยึดหรืออายัดตามมาตรา ๑๘ (๘) นอกจากจะต้องส่งมอบสำเนาหนังสือแสดงการยึดหรืออายัดมอบให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองระบบคอมพิวเตอร์นั้นไว้เป็นหลักฐานแล้วพนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่งยึดหรืออายัดไว้เกินสามสิบวันมิได้ ในกรณีจำเป็นที่ต้องยึดหรืออายัดไว้นานกว่านั้น ให้ยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อขอขยายเวลายึดหรืออายัดได้ แต่ศาลจะอนุญาตให้ขยายเวลาครั้งเดียวหรือหลายครั้งรวมกันได้อีกไม่เกินหกสิบวัน เมื่อหมดความจำเป็นที่จะยึดหรืออายัดหรือครบกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องส่งคืนระบบคอมพิวเตอร์ที่ยึดหรือถอนการอายัดโดยพลัน
หนังสือแสดงการยึดหรืออายัดตามวรรคห้าให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา ๒๐  ในกรณีที่การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามที่กำหนดไว้ในภาคสองลักษณะ ๑ หรือลักษณะ ๑/๑ แห่งประมวลกฎหมายอาญา หรือที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน พนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีอาจยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอำนาจขอให้มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นได้
ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการระงับการทำให้แพร่หลายนั้นเอง หรือสั่งให้ผู้ให้บริการระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นก็ได้

มาตรา ๒๑ ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่พบว่า ข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดมีชุดคำสั่งไม่พึงประสงค์รวมอยู่ด้วย พนักงานเจ้าหน้าที่อาจยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อขอให้มีคำสั่งห้ามจำหน่ายหรือเผยแพร่ หรือสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นระงับการใช้ ทำลายหรือแก้ไขข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นได้ หรือจะกำหนดเงื่อนไขในการใช้ มีไว้ในครอบครอง หรือเผยแพร่ชุดคำสั่งไม่พึงประสงค์ดังกล่าวก็ได้
ชุดคำสั่งไม่พึงประสงค์ตามวรรคหนึ่งหมายถึงชุดคำสั่งที่มีผลทำให้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือระบบคอมพิวเตอร์หรือชุดคำสั่งอื่นเกิดความเสียหาย ถูกทำลาย ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมขัดข้อง หรือปฏิบัติงานไม่ตรงตามคำสั่งที่กำหนดไว้ หรือโดยประการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงทั้งนี้ เว้นแต่เป็นชุดคำสั่งที่มุ่งหมายในการป้องกันหรือแก้ไขชุดคำสั่งดังกล่าวข้างต้น ตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๒๒  ห้ามมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่เปิดเผยหรือส่งมอบข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลของผู้ใช้บริการ ที่ได้มาตามมาตรา ๑๘ ให้แก่บุคคลใด
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับการกระทำเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีกับพนักงานเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ หรือเป็นการกระทำตามคำสั่งหรือที่ได้รับอนุญาตจากศาล
พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ใดฝ่าฝืนวรรคหนึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๒๓  พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ใดกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นล่วงรู้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลของผู้ใช้บริการ ที่ได้มาตามมาตรา ๑๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๒๔  ผู้ใดล่วงรู้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์หรือข้อมูลของผู้ใช้บริการ ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้มาตามมาตรา ๑๘ และเปิดเผยข้อมูลนั้นต่อผู้หนึ่งผู้ใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


มาตรา ๒๕  ข้อมูล ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้มาตามพระราชบัญญัตินี้ ให้อ้างและรับฟังเป็นพยานหลักฐานตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือกฎหมายอื่นอันว่าด้วยการสืบพยานได้ แต่ต้องเป็นชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจมีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือโดยมิชอบประการอื่น

มาตรา ๒๖  ผู้ให้บริการต้องเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ไว้ไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับแต่วันที่ข้อมูลนั้นเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ แต่ในกรณีจำเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่งให้ผู้ให้บริการผู้ใดเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ไว้เกินเก้าสิบวันแต่ไม่เกินหนึ่งปีเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายและเฉพาะคราวก็ได้
ผู้ให้บริการจะต้องเก็บรักษาข้อมูลของผู้ใช้บริการเท่าที่จำเป็นเพื่อให้สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการนับตั้งแต่เริ่มใช้บริการและต้องเก็บรักษาไว้เป็นเวลาไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับตั้งแต่การใช้บริการสิ้นสุดลง
ความในวรรคหนึ่งจะใช้กับผู้ให้บริการประเภทใด อย่างไร และเมื่อใด ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ผู้ให้บริการผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรานี้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท

มาตรา ๒๗  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สั่งตามมาตรา ๑๘ หรือมาตรา ๒๐ หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลตามมาตรา ๒๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาทและปรับเป็นรายวันอีกไม่เกินวันละห้าพันบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง

มาตรา ๒๘  การแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้และความชำนาญเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์และมีคุณสมบัติตามที่รัฐมนตรีกำหนด

มาตรา ๒๙ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามีอำนาจรับคำร้องทุกข์หรือรับคำกล่าวโทษ และมีอำนาจในการสืบสวนสอบสวนเฉพาะความผิดตามพระราชบัญญัตินี้
ในการจับ ควบคุม ค้น การทำสำนวนสอบสวนและดำเนินคดีผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ บรรดาที่เป็นอำนาจของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ หรือพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประสานงานกับพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
ให้นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติและรัฐมนตรีมีอำนาจร่วมกันกำหนดระเบียบเกี่ยวกับแนวทางและวิธีปฏิบัติในการดำเนินการตามวรรคสอง

มาตรา ๓๐  ในการปฏิบัติหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวต่อบุคคลซึ่งเกี่ยวข้อง
บัตรประจำตัวของพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ตัวอย่าง พฤติกรรมการล่วงละเมิด พรบ.คอมพิวเตอร์


1: พฤติกรรม :     ใช้ user name/password ของผู้อื่น Log in เข้าสู่ระบบ
    ฐานความผิด :  มาตรา 5 ปรับไม่เกิน 10,000.- จำคุกไม่เกิน 6 เดือน
    ข้อแนะนำ :    ไม่ใช้ user/password ของผู้อื่น และห้ามไม่ให้ผู้อื่นล่วงรู้        password ของตน

2. พฤติกรรม :     Forward email ที่มีข้อความ เนื้อหา หรือรูปภาพที่ไม่เหมาะสม เป็นเท็จ กระทบความมั่นคง 
หรือลามกก่อนาจาร
   ฐานความผิด :   มาตรา 14 ปรับไม่เกิน 100,000.- จำคุกไม่เกิน 5 ปี
   ข้อแนะนำ :     ไม่ forward email ที่ไม่เหมาะสม

3. พฤติกรรม :    โพสข้อความตามกระทู้ต่างๆ ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม เป็นเท็จ กระทบความมั่นคง หรือลามกอนาจาร
   ฐานความผิด :  มาตรา 14 ปรับไม่เกิน 100,000.- จำคุกไม่เกิน 5 ปี
   ข้อแนะนำ :     ใช้วิจารณญาณในการแสดงความคิดเห็น และคำนึงถึงผลที่จะตามมา

4. พฤติกรรม :    เผยแพร่ภาพตัดต่อให้ผู้อื่นได้รับความเสื่อมเสีย หรืออับอาย
    ฐานความผิด : มาตรา 16 ปรับไม่เกิน 60,000.- จำคุกไม่เกิน 3 ปี